วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 03, 2554

หนังไทยขาดวิตามินเอ็ม (มันนี่) ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต


มีโอกาสไปดูภาพยนตร์หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “หนัง” หลายเรื่องทั้งหนังไทย หนังเทศ ล่าสุดได้ไปชมหนังคนโขน ร่วมกับ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เห็นแล้วก็ชื่นชมผู้สร้างที่มีหัวใจไทย อยากถ่ายทอดความเป็นไทยให้คนไทยภาคภูมิใจกัน

มาถึงเรื่องของการส่งเสริมอุตสาห กรรมภาพยนตร์กัน บทบาทหน้าที่นี้ เป็นของ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ซึ่งเรื่องของการสนับสนุนเกี่ยวกับภาพยนตร์ จะเป็นภารกิจของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารวธ.ได้พยายามผลักดันการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ทั้งกลุ่มของผู้กำกับหน้าใหม่ ภาคเอกชน แต่งบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนแต่ละครั้ง เพียงแค่ระดับร้อยล้านบาทเท่านั้น!!!!

ในปีงบประมาณ 2555 วธ.ได้เสนอของบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์จำนวน 500 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประมาณ สนับสนุนด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 400 ล้านบาท และพัฒนาบทภาพยนตร์ 100 ล้านบาท ถือว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาครัฐเห็นความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์นำรายได้เข้าสู่ประเทศมากโขอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น สาธารณรัฐเกาหลีที่ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ใช่เงินวอนหรือเงินบาท ลองคิดดูว่า เขาจะพัฒนาอุตสาหกรรมของเขาได้มากขนาดไหน เพียงแค่ส่งละครเกาหลีมาขายในบ้านเราก็รวยอื้อซ่ากันแล้ว

ล่าสุดได้อ่านข้อมูลจากนิตยสาร อาร์ตสแควร์ ของ สศร.พบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอย่างน่าสนใจ จึงอยากนำมาสะท้อนให้ทุกฝ่ายและอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะการจัดเทศกาลภาพยนตร์ประจำของประเทศไทย ที่ทุกวันนี้ ไร้งบประมาณและไม่มีการวางแผนการจัดงานอย่างจริงจังทำให้ งานเทศกาลภาพยนตร์ของไทยต้องชะงักงันไป

ซึ่งในข้อมูลของอาร์ตสแควร์ ระบุไว้ว่า เทศกาลหนังที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะในยุโรป จะมีเทศกาลภาพยนตร์เมือง คานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นเทศกาลหนังเบอร์หนึ่งของโลก หนังที่จะฉายที่นั่นได้จะต้องห้ามฉายที่อื่นก่อน (ยกเว้นเฉพาะประเทศของผู้กำกับนั้น ๆ) จะเป็นเทศกาลหนังที่เน้นตัวผู้กำกับ ผลงานของผู้กำกับชั้นนำของโลก โดยเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์มักจะได้รับการยอมรับมากกว่าเทศกาลอื่น ส่วนที่รองลงมาจากคานส์ จะเป็นงานเทศกาลภาพยนตร์ เวนิส และงานเทศกาลภาพยนตร์ เบอร์ลิน ซึ่งก็ถือว่าเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่มีความเก่าแก่เช่นกัน
ในส่วนของสหรัฐอเมริกา เทศกาลภาพยนตร์ โตรอนโต ชื่ออาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยนัก แต่เป็นงานที่ใหญ่สุดในอเมริกาเหนือ ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่มีเทศกาลหนังที่มีความสำคัญระดับโลก จึงทำให้โตรอนโตเป็นเทศกาลสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงตลาดหนังอเมริกันไปด้วย และถ้าภาพยนตร์เรื่องใดเป็นที่สนใจของที่นั่น นั่นก็หมายถึงตลาดทั่วโลกด้วยเช่นกัน  อย่างไรก็ตาม เทศกาลที่โด่งดังมากที่สุดในสหรัฐ จะเป็นเทศกาลหนังอินดี้ที่ชื่อ ซันแดนซ์ เคยมีความสำคัญในช่วงทศวรรษ 1990 แต่เมื่อหนังอินดี้อเมริกาเสื่อมคลาย จึงทำให้ลดบทบาทเป็นเพียงงานระดับประเทศเท่านั้น

ขณะที่งานเทศกาลภาพยนตร์ ร็อตเตอร์ดัม ซึ่งจัดขึ้นปลายเดือนมกราคมของทุกปีที่เนเธอร์แลนด์ ก็ให้ความสำคัญกับหนังอินดี้จากทั่วทุกมุมโลก กลับมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชื่อเสียงในการค้นพบผู้กำกับหน้าใหม่ที่จะโด่งดังในอนาคต ร็อตเตอร์ดัมสนับสนุนผู้กำกับอินดี้แทบทุกรูปแบบ ไม่เพียงแต่ฉายหนังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการให้ทุนทำหนังที่ชื่อฮูเบิร์ตบอลล์ฟันด์ และเทศกาลหนังนี้แหละที่เป็นผู้สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องแรก ดอกไม้ในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตั้งแต่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ จากชิคาโก...ผู้กำกับสำคัญล่าสุดของไทยอย่าง อาทิตย์ อัสสรัตน์ อโนชา วีระเศรษฐกุล และ ศิวโรจน์ คงสกุล ล้วนเกิดจากการชนะรางวัลที่เทศกาลหนังนี้ด้วยกันทั้งสิ้น

งานเทศกาลภาพยนตร์ โลคาร์โน ทางตอนใต้ของสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ ก็กำลังเป็นที่จับตามองในขณะนี้ว่ามีความสำคัญอยู่ในลำดับที่ 4 รองจากคานส์ เวนิส และเบอร์ลิน จากเดิมที่มีความสำคัญเพียงในระดับภูมิภาคยุโรปนั้น หนังของผู้กำกับรุ่นเก่ารุ่นใหม่จะไปฉายโชว์และประกวดที่นั่นทุกเดือนสิงหาคม

สำหรับในเอเชียนั้น คงจะต้องยกประโยชน์ให้กับ ฮ่องกง และ ปูซาน ในฐานะศูนย์กลางสำหรับเลือกหนังเอเชีย ฮ่องกงจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1977 เพราะเป็นเวทีสำคัญที่จะเลือกงานจากประเทศจีน จากจุดที่เริ่มต้นก่อนประเทศใด ๆ ในเอเชียจึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงนักท่องเทศกาลหนังจากทั่วโลกให้มาเยือน

ในช่วงห้าปีหลังที่ผ่านมา ปูซาน กลายเป็นเทศกาลหนังเอเชียที่มีความสำคัญอย่างรวดเร็วด้วยการจัดการที่เข้มแข็ง จุดเด่นของปูซานอยู่ตรงที่สามารถรวบรวมงานทุกอย่างเกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้ได้หมด ทั้งฉายหนัง ตลาด การให้ทุนแก่ผู้กำกับอิสระ งานสัมมนาทั้งในเชิงอุตสาหกรรมและวิชาการ งานเลี้ยงต่าง ๆ จึงทำให้ปูซานได้รับความสนใจจากคนทุกมุมโลกที่หยิบยกงานเทศกาลต่าง ๆ มานำเสนอนั้น จะทำให้เห็นว่า การจัดงานเทศกาลทำให้เกิดการแข่งขันและเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่สำคัญ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาชมหนังและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศนั้น ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของรายได้ที่จะเข้ามามหาศาลอีกด้วย

การพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย นางสุกุมล ได้บอกไว้ว่า จะต้องมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ครอบคลุมทั้งหมด รวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์ของเราด้วย ซึ่งการนำไปร่วมงานเทศกาลต่าง ๆ ก็เป็นจุดหนึ่งที่เปิดตัวหนังไทย และผู้กำกับหน้าใหม่ ที่สำคัญล่าสุด สศร.กำลังดำเนินการโครงการส่งเสริมผลักดันให้เมืองที่มีศักยภาพเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ผลักดันให้เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ให้เป็นเครือข่ายเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์  ด้านภาพยนตร์ ของยูเนสโกด้วย

“เราจะต้องหารือกับทางรัฐบาลในการหางบประมาณมาสนับสนุนการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ของไทยและจะหางบประมาณมาสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อพัฒนาวงการภาพยนตร์ก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย พ.ศ. 2551 จัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดจัดตั้งกองทุน และอยู่ระหว่างดำเนินการของบฯปี 2555 ประมาณ 200 ล้านบาทมาเป็นทุนดำเนินการ” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

อย่างไรก็ตาม บทบาทของการส่งเสริมภาพยนตร์ยังคงต้องดำเนินต่อไป และต้องแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณที่เกิดขึ้น รวมทั้งต้องหารือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรัฐบาลและภาคเอกชนว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยนั้นเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความต่อเนื่องเหมือนกับประเทศอื่น ๆ บ้าง???.

มนตรี ประทุม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น