วันเสาร์, สิงหาคม 20, 2554

ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 7000 ล้านคนในปีนี้

วันที่ 11 กรกฎาคม ของทุกปี ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เนื่องด้วยองค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันประชากรโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงประเด็นของปัญหาประชากรและให้ความสำคัญต่อแผนการพัฒนาทุก ๆ ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ประชากรในประเทศของตนมีคุณภาพที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วปัจจุบันพบว่ามีอัตราการเกิดน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาหลายด้านตามมาในอนาคต
   
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า ปัญหาประชากรทั่วโลกที่ประสบอยู่ขณะนี้คือ ทุกปีจะมีจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีประชากรที่อาศัยอยู่บนโลกประมาณ 7,000 ล้านคน ในแต่ละปีจะมีประชากรเพิ่มขึ้นประมาณ 78 ล้านคน ซึ่งเท่ากับจำนวนประชากรของประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย กรีซและโปรตุเกสรวมกัน แต่จากอัตราที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดหรือร้อยละ 97 อยู่ในประเทศที่ด้อยพัฒนา ซึ่งบางประเทศต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากร ทำให้มีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันมากขึ้น
   
เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นก็มีผล กระทบทำให้โลกของเราต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำและอาหาร แต่ในขณะเดียวกันประเทศที่ร่ำรวยและมีรายได้ปานกลางหลายประเทศกลับกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ต่ำ การลดลงของประชากร และการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในจำนวนหลายประเทศที่กำลังเผชิญกับสภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำและมีสัดส่วนของประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้นทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากความสำเร็จของโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว และความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้การวางแผนครอบครัวเป็นที่แพร่หลาย
   
ปัจจุบันอัตราเพิ่มของประชากรไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว และประชากรมีสุขภาพและอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ในอนาคตประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่รวดเร็วมาก จากร้อยละ 10.7 ในปีพ.ศ. 2550 หรือประมาณ 7 ล้านคน เป็นร้อยละ 11.8 หรือ 14.4 ล้านคน คาดว่าในปีพ.ศ. 2568 จะมีอัตราการเข้าสู่   ’ภาวะประชากรสูงอายุ“ (Population Aging) รวดเร็วเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอายุและเพศของประชากร

จากสถานการณ์ปัญหาที่ประเทศ ไทยกำลังประสบอยู่นี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชาชนทุกกลุ่มวัย จึงได้ตระหนักเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ และจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเน้นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในระยะยาว  (Long Term Care) ซึ่งจะแบ่งศักยภาพของผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม ตามความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองได้ ช่วยเหลือผู้อื่น ชุมชนและสังคมได้ กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุที่ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง และกลุ่มที่ 3 ผู้สูงอายุที่พึ่งตนเองไม่ได้ พิการ
   
จากนั้นก็นำเข้าร่วมโครงการที่สำคัญดังนี้ โครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยมีตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ 76 แห่ง เช่น ต.บางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ฯลฯ โครงการพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการเชิงบูรณาการ และโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้เป็นศูนย์รวมด้านจิตใจ การส่งเสริมสุขภาพและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุในชุมชน ปัจจุบันมีวัดที่ส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น  2,366 แห่ง และยังมีโครงการวิจัยเฝ้าระวังสถานะสุขภาพร่วมกับการดูแลสุขภาพในระยะยาว
   
นอกจากนี้ยังมีหลักการดูแลสุขอนามัยผู้สูงอายุด้วย หลัก 10 อ.คือ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย อุจจาระ อนามัย อุบัติเหตุ อารมณ์ อดิเรก (งาน) อบอุ่น (ความผูกพัน) และอนาคต (การเตรียมตัวเตรียมใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น) ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ พร้อมกันนี้ลูกหลานและชุมชนควรช่วยกันดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในครอบครัวรวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเป็นจิตอาสาด้วย
   
สำหรับเรื่องสภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำที่ประเทศไทยเผชิญอยู่นั้น จากสถิติปัจจุบันพบว่าผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น จากช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2506-2526 มีการเกิดในประเทศไทยแต่ละปีเกินกว่า 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันอัตราการเกิดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.3 หรือ 8 แสนคน และมีแนวโน้มว่าเด็กจะเกิดในประเทศไทยลดต่ำลงไปอีก เพราะคนหนุ่มสาวนิยมเป็นโสดกันมากขึ้นและผู้ที่แต่งงานแล้วก็มักมีลูกน้อยลง จึงคาดการณ์ได้ว่าประชากรของประเทศไทยจะเพิ่มช้าลงไปอีกในอนาคตและจะไปคงที่อยู่ที่ประมาณ 65-66 ล้านคน ในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะมีเด็กเกิดในประเทศไทยเพียงประมาณปีละ 7 แสนคนเท่านั้น
   
อย่างไรก็ตามด้วยสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่เสื่อมลง สภาพครอบครัวแตกแยก สตรีและเด็กถูกเอาเปรียบ ถูกกระทำรุนแรงทางกายและจิตใจ ทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาอีกรูปแบบหนึ่งคือ ’เด็กเกิดน้อยแต่ด้อยคุณภาพ“ สาเหตุเนื่องจากยังมีการตั้งครรภ์และการคลอดที่ไม่ได้รับการดูแลจากบุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข ทารกที่คลอดออกมาจึงมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ติดเชื้อจากมารดา พิการ หรือผิดปกติ เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็รวมถึงกลุ่มวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ในวัยที่ยังไม่พร้อมด้วยจึงก่อให้เกิดการทำแท้งและมีผลกระทบ ต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย
   
ดังนั้นเมื่อมีการด้อยคุณภาพเช่นนี้ คนไทยที่เกิดมารุ่นต่อ ๆ ไป นอกจากจะมีจำนวนน้อยแล้วยังมีคุณภาพด้อยลงด้วย ทำให้โอกาสที่จะแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตลดน้อยลงเนื่องจากประชากรไม่มีคุณภาพ การพัฒนาประชากรเด็กจึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงอีกเช่นกัน โดยเริ่มดูแลตั้งแต่การเกิด พ่อแม่ต้องมีความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การดูแลครรภ์ขณะคลอดและหลังคลอดทั้งแม่และทารก ทางกรมอนามัยจึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) เพื่อส่งเสริมคุณภาพของการเกิดทุกรายในประเทศไทย
   
ยุทธศาสตร์การพัฒนางานอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติประกอบด้วย 1. เสริมสร้างครอบครัวใหม่และเด็กรุ่นใหม่ให้เข้มแข็งเพื่อให้การตั้งครรภ์ทุกรายเป็นการตั้งครรภ์ที่พร้อม ทารกและเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ  2. ส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม โดยมีระบบการเรียนรู้ การสอนแบบมีส่วนร่วมเรื่องเพศศึกษาและทักษะชีวิตที่รอบด้าน 3. พัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ โดยให้โรงพยาบาลทุกระดับมีการจัดบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์สำหรับวัยรุ่นและมีโรงเรียนต้นแบบการจัดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ
   
4. พัฒนาระบบบริหารจัดการอย่างบูรณาการ โดยให้ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์และมีแผนแม่บทจัดการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ 5. การพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบ และ 6. การพัฒนาจัดการด้านความรู้และเทคโนโลยี โดยจัดให้มีระบบเฝ้าระวังสถานการณ์ มีนวัตกรรมและการจัดการความรู้ด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ
   
นอกจากทุกหน่วยงานจะประสานความร่วมมือปรับยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประชากรแล้ว ตัวประชาชนเองควรมีส่วนร่วมในการช่วยส่งเสริมคุณภาพประชากรด้วยการให้ความสำคัญกับการมีลูก คืออย่ามีลูกมากจนเกินความเหมาะสม เพราะจะทำให้การพัฒนาของครอบครัวเป็นไปได้ไม่ดี ควรมีครอบครัวละไม่เกิน 3 คน และที่สำคัญคือการเริ่มต้นที่การเตรียมพร้อมร่างกายจิตใจที่ดีก่อนการตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์แล้วควรไปฝากท้องยังสถานบริการและไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง สุดท้ายเมื่อลูกคลอดมาแล้วควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน พร้อมกับสร้างเสริมพัฒนาการให้ลูกตามวัย จนกระทั่งเติบโตไปสู่วัยรุ่นควรแนะนำให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง และเมื่ออยู่ในวัยทำงานควรตรวจสุขภาพร่างกายทุกปี โดยเฉพาะโรคร้ายอย่างมะเร็ง
   
หากประชากรไทยมีการพัฒนาไปในทางที่ดีก็จะมีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติของเราต่อไป. 

“สำหรับเรื่องสภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำที่ประเทศไทยเผชิญอยู่นั้น จากสถิติปัจจุบันพบว่าผู้หญิงไทยคนหนึ่งมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น จากช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2506-2526 มีการเกิดในประเทศไทยแต่ละปีเกินกว่า 1 ล้านคน แต่ปัจจุบันอัตราการเกิดลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.3 หรือ 8 แสนคน และมีแนวโน้มว่าเด็กจะเกิดในประเทศไทยลดต่ำลงไปอีก เพราะคนหนุ่มสาวนิยมเป็นโสดกันมากขึ้นและผู้ที่แต่งงานแล้วก็มักมีลูกน้อยลง”

20 ลำดับประเทศที่มีประชากรมากที่สุด

1.    ประเทศจีน                    มีประชากรจำนวน    1,341,335,000    คน
2.    ประเทศอินเดีย              มีประชากรจำนวน    1,224,614,000    คน
3.    ประเทศสหรัฐอเมริกา    มีประชากรจำนวน    310,384,000       คน
4.    ประเทศอินโดนีเซีย       มีประชากรจำนวน    239,781,000       คน
5.    ประเทศบราซิล             มีประชากรจำนวน    194,946,000       คน
6.    ประเทศปากีสถาน        มีประชากรจำนวน    173,593,000       คน
7.    ประเทศไนจีเรีย            มีประชากรจำนวน    158,432,000       คน
8.    ประเทศบังกลาเทศ      มีประชากรจำนวน    148,692,000       คน
9.    ประเทศรัสเซีย             มีประชากรจำนวน    142,958,000        คน
10.    ประเทศญี่ปุ่น             มีประชากรจำนวน    126,536,000        คน
11.    ประเทศเม็กซิโก        มีประชากรจำนวน    113,423,000        คน
12.    ประเทศฟิลิปปินส์      มีประชากรจำนวน    93,261,000          คน
13.    ประเทศเวียดนาม      มีประชากรจำนวน    87,848,000          คน
14.    ประเทศเอธิโอเปีย    มีประชากรจำนวน    82,950,000          คน
15.    ประเทศเยอรมนี        มีประชากรจำนวน    82,302,000          คน
16.    ประเทศอียิปต์          มีประชากรจำนวน    81,121,000          คน
17.    ประเทศอิหร่าน         มีประชากรจำนวน     73,974,000         คน
18.    ประเทศตุรกี             มีประชากรจำนวน     72,752,000         คน
19.    ประเทศไทย            มีประชากรจำนวน     69,122,000         คน    
20.    ประเทศคองโก        มีประชากรจำนวน     65,966,000          คน

(ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ สำรวจเมื่อกลางปีค.ศ. 2010)

ทีมวาไรตี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น