วันอาทิตย์, มกราคม 05, 2557

พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า

เก็บตกจากข้อสอบ ก่อนเข้าห้องสอบไม่รู้จัก ออกจากห้องสอบมาศึกษา ทีหลังก็ได้

พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า

จารุณี อินเฉิดฉาย*
*พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป 



        พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า
        การประดับอาคารศาสนสถานด้วยผ้าเขียนภาพต่างๆ นั้น เป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก (มาลินี คัมภีรญาณนนท์ ๒๕๓๒)
        ในจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงพนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้เป็นอันมาก และในปีพุทธศักราช ๑๘๒๗ "...จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวร ใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีม(หาโ)พธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ...พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ ๑๔ ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี..." (สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๑๓)


        ดังนั้น คติการสร้างพระบฏในสมัยสุโขทัย จึงนิยมทำขึ้นเพื่อการอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 
        ในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง "พระบฏจีน" ซึ่งอาจจะเป็นพระบฏที่เขียนขึ้นเนื่องในคติมหายานตามความนิยมของจีน หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจหมายความว่าการเขียนภาพบนผ้านั้น ทำตามแบบอย่างของจีน จึงเรียกว่าพระบฏจีน 
        ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น 
        "...ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี..." (กรมศิลปากร ๒๕๑๗) 
        พระบฏที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มาการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร ในโครงการสำรวจทางโบราณคดีเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบฎผืนนี้มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง ๑.๘ เมตร และยาวถึง ๓.๔ เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพ สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะการชำรุดก่อนที่จะนำไปบรรจุไว้ในหม้อดิน จึงสันนิษฐานว่าพระบฏนี้มีอายุเก่ากว่าพระเจดีย์ หรือมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ 
        ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด 

อ่านต่อได้ที่ http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=109

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น