วันพุธ, กรกฎาคม 06, 2554

เปตอง

 
เปตองเป็นกีฬาที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ประวัติที่แน่นอนไม่มีบันทึกไว้ แต่หลักฐานการเล่าสืบต่อๆ กันมาว่า กำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศกรีซเมื่อประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล โดยเก็บก้อนหินที่เป็นทรงกลมจากภูเขาและใต้ทะเลมาเล่นกัน วิธีการเล่นคือ ใครจะโยนไอ้แม่นและไกลที่สุดกว่ากัน ต่อมากีฬาประเภทนี้ได้แพร่หลายเข้ามาในทวีปยุโรป เมื่ออาณาจักรโรมันครองอำนาจ และเข้ายึดครองดินแอนชนชาวกรีกได้สำเร็จ ชาวโรมันก็ได้รับเอาวัฒนธรรม และการเล่นกีฬาประเภทนี้ไปจากชนชาวกรีกด้วย ต่อมา ชาวโรมันได้ใช้การเล่นกีฬาประเภทนี้เป็นเครื่องทดสอบกำลังข้อมือและกำลังกายของผู้ชายในสมัยนั้น
                ครั้นต่อมา เมื่ออาณาจักรโรมันเข้ายึดครองดินแดนชาวโกล หรือประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน ชาวโรมันก็ได้นำเอาการเล่นลูกบูลประเภทนี้เข้าไปเผยแพร่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสการเล่นลูกบูลนี้จึงได้พัฒนาขึ้นโดยเปลี่ยนมาใช้ไม้เนื้อแข็งถากเป็นรูปทรงกลม แล้วใช้ตะปูตอกรอบๆ เพื่อเพิ่มน้ำหนักของลูกบูลให้พอเหมาะกับมือ
                ในยุคกลางประมาณ ค.ศ 400-1000 การเล่นลูกบูลนี้จึงเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศส ครั้งพอถึงสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระองค์ได้ทรงประกาศ และสงวนกีฬาการเล่นลูกบูลนี้เป็นไว้สำหรับผู้สูงเกียรติ และให้เล่นได้เฉพาะในพระราชสำนักเท่านั้น
                ต่อมาในสมัยพระเจ้านโบเลียนมหาราชขึ้นครองอำนาจ พระองค์ได้ทรงประกาศใหม่ให้มีการเล่นลูกบูลนี้เป็นกีฬาประจำชาติของประเทศฝรั่งเศส และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วๆไปได้เล่นกันอย่างเสมอภาคกันทุกคน การเล่นลูกนี้จึงได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมา เช่น โดยการนำเอาลูกปืนใหญ่ที่ใช้แล้วมาเล่นกันบ้างอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน จนมีการตั้งชื่อเกมกีฬาประเภทนี้ขึ้นมาอย่างมากมายต่างๆ กัน เช่น บูลแบร-รอตรอง, บูลลิ-โยเน่ส์, บูลเจอร์-เดอร์ลอง และบูล-โปรวังซาล เป็นต้น
                ในปลายศตวรรษที่ 19 ประเทศฝรั่งเศสได้เป็นประเทศแรกของโลกที่ได้ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับกติกาการเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลขึ้น โดยให้วิ่ง 3 ก้าวก่อนโยนลูกบูล การเล่นกีฬาประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศฝรั่งเศส และมีการแข่งขันชิงแชมป์กันขึ้นโดยทั่วไป
                จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ใน ค.ศ 1910 ณ ตำบลลาซิ-โอต้าท์ เมืองท่ามาร์แชลด์ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส การเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาการเล่นขึ้นใหม่ โดยนายจูลร์-เลอนัวร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีฝีมือการเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลที่เก่งที่สุดได้ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจนขาสองข้างพิการ ไม่สามารถเล่นต่อไปได้จนน้องชายของเค้าเห็นว่าพี่ชายมีอาการหงอยเหงาเห็นจึงให้พี่ชายทดลองโดยโยนดูขณะนั่งอยู่บนรถเข็น โดยการเอาลูกเป้าโยนไว้ใกล้ๆ ประมาณ 3-4 เมตร นายจูลร์ เลอนัวร์ ก็สามารถโยนลูกบูลไปด้วยกำลังแขนและข้อมือได้ด้วยความแม่นยำ น้องชายของจึงได้ดัดแปลงแก้ไขกติการเล่นลูกบูลขึ้นมาใหม่ โดยการขีดวงกลมลงบนพื้น แล้วให้ผู้เล่นเข้าไปยืนอยู่ในวงกลม ให้ขาทั้งสองข้างยืนชิดติดกัน และไม่ต้องวิ่งเหมือนกีฬาโปรวังซาล เกมส์นี้กำเนิดขึ้นโดยมีสมาชิกครั้งแรกประมาณ 50 คน พวกเขาพยายามประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่เกมใหม่นี้เป็นเวลาถึง 30 ปี จึงได้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ในที่สุดก็ได้ก่อตั้ง “สหพันธ์เปตองและโปรวังซาล” ขึ้นใน ค.ศ 1938 โดยมีสมาชิกเพิ่มขึ้นนับเป็นแสนๆ คน มีบุคคลทุกระดับชั้น ทุกเพศ ทุกวัย เข้าเป็นสมาชิก ลูกเปตองที่ใช้เล่นกันก็ทันสมัยมากขึ้น เพราะมีผู้คิดค้นทำเป็นลูกโลหะผสมเหล็กกล้า ข้างในกลวง การเล่นจึงมีความสนุกสนานเร้าใจยิ่งกว่าเดิม
                เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน ค.ศ 1945 การเล่นกีฬาลูกบูล-โปรวังซาลที่ได้ดัดแปลงแก้ไขใหม่นี้จึงได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ และได้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็วตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศส ตลอดจนถึงดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสอีกด้วย การเล่นกีฬาลูกบูลนี้ได้แบ่งแยกการเล่นออกเป็น 3 ประเภท คือ
                                1. ลิโยเน่ส์
                                2. โปรวังซาล (วิ่ง 3 ก้าวก่อนโยนลูกบูล)
                                3. เปตอง (ที่นิยมเล่นกันในปัจจุบัน)
                ปัจจุบันกีฬาเปตองเป็นที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย เกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย นิยมเล่นกันมาก เช่น ฝรั่งเศส, สวิสเซอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, เยอรมันตะวันตก, เวเนซูเอลา, อังกฤษ, ฮอลแลนด์, สเปน, สวีเดน, แคนาดา, ตูนีเซีย, อัลจีเรีย, โมรอคโค, มาดากัสกาฯลฯ สำหรับทวีปเอเชียประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย และกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศแรกและเป็นประเทศที่ 17 ของโลกที่เป็นสมาชิกของสหพันธ์เปตองนานาชาติ นอกจากนั้นยังมีประเทศเพื่อบ้านในทวีปเอเชียเล่นกันเกือบทุกประเทศในปัจจุบัน
                คำว่า “PETANQUE” นี้มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “บิเยส์ ตองแกร์” ซึ่งมีความหมายว่า “ให้ยืนสองเท้าชิดติดกัน” ซึ่งเป็นคำตรงกันข้ามกับ “บูลโปรวังซาล” ที่ต้องวิ่ง 3 ก้าวก่อนโยนลูกบูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น