การแบ่งแยกเรียกขานตราหน้าว่าใครเป็น “ฝ่ายซ้าย” หรือ “ฝ่ายขวา” มีกันมานานแล้ว ที่โดดเด่นที่สุดคือในยุคสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจนสิ้นสุดลงเมื่อสัก 10 ปีมานี้เอง ในยุคนั้น “ฝ่ายซ้าย” คือบุคคลหรือประเทศที่เดินแนวทางสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ส่วน “ฝ่ายขวา” คือบุคคลหรือประเทศที่เดินแนวทางทุนนิยมเป็นหลัก
แต่จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของการแบ่งแยกเป็น “ซ้าย” กับ “ขวา” ไม่ใช่เรื่อง “สังคมนิยม” กับ “ทุนนิยม” เสียทีเดียวหากแต่เป็นเรื่องของ “ความคิดใหม่” กับ “ความคิดเก่า” เป็นสำคัญ
จุดเริ่มต้นมาจากการจัดที่นั่งในการประชุมสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสเมื่อปีค.ศ. 1789 (The French National Assembly of 1789) ครับ !
เวลานั้นถือว่าเป็นช่วงต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ลือลั่นสนั่นโลก
การประชุมสมัชชาแห่งชาติฝรั่งเศสในครั้งนั้นได้จัดให้กลุ่มขุนนาง นักบวช นั่งอยู่ฝั่งขวาของประธานในการประชุม
กลุ่มเหล่านี้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม (Conservative) ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งนี้เพราะต้องการดำรงสิทธิ อำนาจ และผลประโยชน์ต่าง ๆ ของตนเอาไว้
ในขณะที่นั่งฝั่งซ้ายถูกจัดให้กับพวกสามัญชน
สามัญชนเป็นผู้มีแนวคิดต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา ถูกกดขี่ ขูดรีด และลิดรอนสิทธิมาโดยตลอด !
การจัดแบ่งที่นั่งฝั่งซ้าย-ฝั่งขวาของประธานในที่ประชุมตามแนวคิดทางการเมืองเช่นนี้ ได้เริ่มแพร่กระจายไปตามประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป ทำให้เกิดประเพณีการจัดที่นั่งการประชุมรัฐสภา ยกฝั่งขวาให้กับผู้มีแนวคิดในเชิงอนุรักษ์นิยม (Conservative) ส่วนที่นั่งฝั่งซ้ายสำหรับผู้มีแนวคิดเสรีนิยม (Liberal) ที่ถือเป็นแนวคิดใหม่ แนวคิดก้าวหน้า และแนวคิดเชิงปฏิวัติ ในขณะนั้น
ต่อมา ในยุคสงครามเย็น คำว่า “ฝ่ายซ้าย” กับ “ฝ่ายขวา”ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่กล่าวข้างต้น
คำว่า “ฝ่ายซ้าย” ถูกแทนค่าว่าหมายถึงผู้มีแนวคิดสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกขายชาติ ส่วน “ฝ่ายขวา” ถูกแทนค่าว่าเป็นพวกอนุรักษ์นิยม ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกปฏิกิริยา เผด็จการฟาสซิสต์
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเรียกขาน
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การแบ่ง “ฝ่ายซ้าย” หรือ “ฝ่ายขวา” ที่จริงแล้วเป็นเพียง วาทกรรมทางการเมือง (Political Discourse) ประเภทหนึ่งนั้น ไม่อาจอรรถาธิบายลักษณะแนวคิดได้ชัดเจนตายตัว
เพราะจะขึ้นอยู่กับว่า — อยู่ในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมแบบไหน
“ฝ่ายซ้าย” ของสหรัฐอเมริกาในทุกวันนี้จึงแตกต่างทางความคิดจาก “ฝ่ายซ้าย” ในรัสเซีย หรือจีน
กล่าวคือ “ฝ่ายซ้าย” ในสหรัฐอเมริกาอาจจะคือผู้มีแนวคิดสังคมนิยม ต่อต้านการค้าเสรี เรียกร้องสิทธิสตรี เรียกร้องสิทธิชนกลุ่มน้อย ฯลฯ
ในขณะที่ “ฝ่ายซ้าย” ในรัสเซียอาจจะมีแนวคิดตรงกันข้ามกันเลยก็ได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักรัฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยให้คำจำกัดความระหว่าง “ฝ่ายซ้าย” กับ “ฝ่ายขวา”ในปัจจุบัน โดยยึดอิงแนวคิดแบบเดิม
คือแบ่งให้ทางขวาสุด เรียกว่า “ขวาจัด” (The extreme right) แทนค่าด้วยแนวคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมสุดขั้ว ส่วนด้านซ้ายสุดเรียกว่า “ซ้ายจัด” (The extreme left) แทนค่าด้วยแนวคิดแบบต่อต้านอย่างรุนแรง (Radical)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น