วันที่ 24 กันยายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า "วันมหิดล" เพื่อเป็นการถวายสักการะ และแสดงกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน เพราะพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุข ของประเทศไทยตลอดระยะเวลา 12 ปีนั้นได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ ในกาลต่อมา
พิธีวันมหิดลเริ่มโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯทรงเปิด พระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2493 แล้ว ในวันที่ 24 กันยายน ปีเดียวกัน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช และนักศึกษาพยาบาล โดยการนำของ นายบุญเริ่ม สิงหเนตร นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ และ นางสาวชายัญ ปรักกะมะกุล หัวหน้านักศึกษาพยาบาล นำนักศึกษาแพทย์และนักศึกษาพยาบาลตั้งแถวตามถนนจักรพงษ์ หน้าพระบรมรูปสมเด็จพระราชบิดา จากนั้นหัวหน้านักศึกษาวางพวงมาลาแล้วผู้แทนนักศึกษาอ่านฉันท์ ทูลกระหม่อมสดุดีอศิรวาท ซึ่งประพันธ์โดย นายภูเก็ต วาจานนท์ หลังจากนั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร และ ศ.นพ.เติม บุนนาค วางพวงมาลาของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ในเวลาต่อมาก็มีงานอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ระยะแรกมีการออกรายการสดุดีสมเด็จพระบรมราชชนกทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย โดยนักศึกษาแพทย์และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย มีการทำงานโยธาในวันมหิดล ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ ก็เริ่มจัดรายการ โทรทัศน์วันมหิดล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น