เชื่อหรือไม่เชื่อ?
"มือถือ" ก่อ "มะเร็งสมอง" ได้!
แต่ไม่ใช่ว่าจะมีแต่งานวิจัยที่สนับสนุนว่า "มือถือก่อมะเร็ง" เท่านั้นนะคะ ยังมีงานวิจัยอื่นๆ จากนักวิจัยชาวเดนมาร์กที่บอกว่า "การใช้โทรศัพท์มือถือไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกในสมอง" และก็ยังมีนักวิชาการชาวออสเตรเลียยืนยันอีกว่า ใช้มือถือคุยโทรศัพท์ไม่ก่อให้เป็นโรคมะเร็งแน่นอน ดังนั้น ตอนนี้ก็ยังคงมีการศึกษาถึงผลกระทบเรื่องนี้อยู่โดยตลอด แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์ ได้เขียนหนังสือเรื่อง "Disconnect: The Truth About Cell Phone Radiation, What the Industry Has Done to Hide It, and How to Protect Your Family" ชื่อหนังสืออ่านแล้วรู้สึกว่าจะตีแผ่วงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือที่ซ่อนความจริงเรื่องผล(เสีย?)ของการใช้โทรศัพท์มือถือไว้ และแนะนำความจริงเกี่ยวกับรังสีจากโทรศัพท์มือถือ รวมถึงวิธีป้องกันครอบครัวด้วย พี่เกียรติเองก็ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้หรอกค่ะ ไม่น่ามีคนแปลไทยขาย และพี่เกียรติคงไม่สั่งซื้อข้ามประเทศเช่นกัน ฮ่าๆ แต่ก็พอมีคนเขียนแนะนำหนังสือเล่มนี้ และสัมภาษณ์ผู้เขียนอยู่บ้าง ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจที่พี่เกียรติจะเล่าให้ฟังดังนี้ค่ะ
ผลระยะยาวของรังสีเครื่องมือต่างๆ มีความสำคัญมาก แม้โทรศัพท์จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทันที แต่หากเปรียบเทียบกับผู้ได้รับกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดใหญ่ที่ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น คนกลุ่มนี้ในช่วงสิบปี หรือยี่สิบปีต่อมาก็ไม่ได้มีอัตราคนเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่ผลกลับมีผู้เป็นมะเร็งมากขึ้นตามนัยทางสถิติในอีกช่วง 40 ปีต่อมาจากเหตุการณ์นั้น อันเป็นการสะสมของผลกระทบจากรังสีทั้งสิ้น และก็เป็นเรื่องเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่หรืออยู่ข้างๆ คนสูบบุหรี่มาตลอดช่วง 10 แรกก็ไม่มีผลทางสุขภาพอะไรใหญ่โตอะไร แต่พอ 20 ปี 30 - 40 ปี ก็กลายเป็นปัญหาสุขภาพใหญ่ทีเดียว ดังนั้น สถิติต่างๆ นี้จึงมีความน่าสนใจในการนำมาเปรียบเทียบมาก เมื่อมีการสงสัยกันว่า แล้วผลของการใช้โทรศัพท์มือถือมาตลอด 10 ปีจะมีความเสี่ยงมะเร็งสมองอย่างไร ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการศึกษากันอยู่"
พี่เกียรติว่าน่าสนใจทีเดียว น้องๆ ชาว Dek-D หรือตัวพี่เอง ก็ไม่ได้มีอายุมากพอที่จะใช้โทรศัพท์มานานได้ถึง 10 ปี แต่ผลกระทบระยะยาวที่จะทำให้เราเสียสุขภาพแบบนี้ก็น่าคิด ยาพิษแบบไม่ออกผลทันที แต่ค่อยๆ สะสมในร่างกาย จนเมื่อเกิดอาการก็เกินเยียวยารักษาแบบนี้มีถมไป นักวิจัยกลุ่มที่บอกว่าโทรศัพท์ไม่มีผลต่อมะเร็งสมอง เขาใช้เหตุผลว่า เพราะรังสีไม่สามารถผ่านกระโหลกเราไปถึงสมองได้ แต่เมื่อพี่เกียรติคิดอีกทีถ้า ศีรษะของเด็กๆ ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระโหลกของเด็กก็ไม่หนาเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้น ใครที่ใช้โทรศัพท์มือถือแต่เด็กก็มีความเสี่ยงที่รังสีแม่เหล็กจะถึงเนื้อสมอง และเข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ได้ล่ะสินะ
เอาล่ะสิ ผลวิจัยจากนักวิชาการก็มีทั้งผลบวก ผลลบ ออกมาแก้ลำกันไป มีเหตุผลน่าเชื่อถือกันไปทุกฝ่าย ที่นี้เลยกลายเป็นปัญหาของผู้บริโภคเสียเอง ที่ต้องตัดสินใจแล้วว่า "ตกลงเจ้ามือถือที่ว่านี่ดีหรือร้ายต่อสมองเรากันแน่" แล้วผู้ใช้อย่างเราๆ อย่างน้องๆ อย่างพี่เกียรติก็ไม่ใช้นักวิชาการรังสีวิทยาหรือเชี่ยวชาญโรคมะเร็งแต่อย่างไร ใครจะไปฟันธงฉึบฉับได้ ดังนั้น ตัวเราเองนี่แหละ ทำอะไรได้ก็ต้องทำไป ป้องกันอะไรได้ก็ควรป้องกันไว้ก่อน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บไม่ได้เข้าใครออกใคร ไม่ต้องรอผลวิจัย 10 ปี แล้วค่อยตัดสินใจป้องกันก็ได้ใช่ไหม?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น