เมื่อเจาะเลือดจากปลายนิ้ว หยดลงในน้ำยาสีฟ้า (สารละลายจุนสีหรือCopper sulphate)แต่หยดเลือดของคุณไม่จม และเมื่อได้ตรวจความเข้มข้นของโลหิต (Hemoglobin) พบว่าความเข้มข้นไม่ถึง 12 g/dL ในผู้หญิง หรือไม่ถึง 13 g/dL ในผู้ชายแสดงถึงภาวะโลหิตจาง คุณ! อาจเป็นพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือโรคโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก
ยาธาตุเหล็กสำหรับผู้บริจาคโลหิต โดยปกติ ร่างกายจะเสียธาตุเหล็ก จากการหลุดลอกของเซลล์ ผนังลำไส้ และเซลล์อื่นๆในปริมาณที่น้อยมาก
คือ ประมาณ 1 และ 1.5 มิลลิกรัม ในผู้ชายและผู้หญิง ตามลำดับ เท่ากับที่ได้รับจากอาหาร การมีประจำเดือนแต่ละเดือนผู้หญิงจะสูญเสียธาตุเหล็กประมาณ 30-40
มิลลิกรัม ส่วนการบริจาคโลหิตแต่ละครั้งจะเสียธาตุเหล็กประมาณ 150-200มิลลิกรัมซึ่งเห็นได้ว่าเป็นปริมาณที่สูงมากจำเป็นต้องมีการทดแทน
เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียธาตุเหล็ก จากการศึกษา เกี่ยวกับผู้บริจาคโลหิตของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบว่าร้อยละ 37 ของผู้ที่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้โดยเฉพาะผู้หญิง คือ เลือดลอย หรือความเข้มข้นของโลหิตต่ำกว่ามาตรฐานในการบริจาค (12.5 gm/dL) ซึ่งถ้าสาเหตุมาจากการขาดธาตุเหล็กก็ควรต้องกินยาเสริมธาตุเหล็ก และเพิ่มอาหารที่มีธาตุเหล็กให้มากขึ้น
หากท่านได้ปฎิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวท่านจะไม่เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กแน่นอน โลหิตจะเข้มข้นเพียงพอที่จะบริจาคทุกครั้ง การบริจาคโลหิตจะเป็นการกระตุ้นให้ไขกระดูกทำงานผลิตโลหิตใหม่หมุเวียนทดแทนโลหิตเก่าที่ออกไป ส่งผลให้เป็นผู้มีผิวพรรณสดใส ไม่อ่อนเพลีย มีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ตลอดไป
อาหารบำรุงเลือด (Lisa)
เพียงแค่ดื่มน้ำส้มหนึ่งแก้วในระหว่างมื้ออาหาร ก็ช่วยบำรุงเลือดคุณได้ เพราะวิตามินซีช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับ ชาและกาแฟเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในร่างกาย
เมื่อร่างกายขาดธาตุเหล็กก็จะมีอาการอ่อนเพลีย ง่วง ขาดสมาธิ ซีดเซียว และเส้นผมหลุดร่วงโดยที่เราไม่รู้ตัว และกว่าโรคจะปรากฏให้เห็น การขาดธาตุเหล็กก็ส่งผลกระทบแล้ว คุณจึงควรตรวจเช็กสักครั้งเมื่อมีอาการดังกล่าวโดยไม่รู้สาเหตุ เพราะเกือบหนึ่งในสองของผู้หญิงมักมีธาตุเหล็กต่ำเกินไป
ทั้งนี้ คนแทบไม่เชื่อว่า การขาดธาตุเหล็กคือภาวะที่เกิดขึ้นมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะผู้หญิงในประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งผู้หญิงมักสูญเสียแร่ธาตุไปกับเลือดประจำเดือน เพราะผู้หญิงบางคนมีเลือดประจำเดือนครั้งละครึ่งลิตร ซึ่งตามปกติของการเสียเลือดประจำเดือน 50 มิลลิลิตร ก็เท่ากับสูญเสียธาตุเหล็กประมาณ 15-30 มิลลิกรัม หรือบางคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจสูญเสียมากกว่านี้ จึงทำให้การเก็บกักธาตุเหล็กไม่สมบูรณ์
อาหารที่เป็นศัตรูของธาตุเหล็ก
ชาและกาแฟ ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก วิธีที่จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีคือ หลังมื้ออาหารให้กินผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้มหนึ่งผล
อาหารที่มีธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กจากพืชผักและผลไม้มักละลายยาก ส่วนใหญ่มักติดอยู่กับคาร์โบไฮเดรต และมีเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้นที่เข้าไปในกระแสเลือด นอกจากนี้ อาหารบางชนิดที่เรารับประทานอยู่ทุกวัน ยังไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็ก เช่น แคลเซียมจากผลิตภัณฑ์นม โพลีฟีนอยด์ (ถั่วเปลือกแข็ง) ไฟเตท (ธัญพืชและถั่ว) ฟอสเฟต (น้ำดำ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ชาและกาแฟ)
วิธีที่จะช่วยทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีก็คือ ดื่มน้ำส้มหนึ่งแก้วในระหว่างทานอาหารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอย่างเช่น เนื้อแดง ปลา เป็ด และไก่ วิธีป้องกันการขาดธาตุเหล็กก็คือ ควรกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
บุคคลที่ต้องใส่ใจ
นักมังสวิรัติ สตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร สตรีมีรอบเดือน ต้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งก็ค่อนข้างยาก หากจำเป็นก็ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายธาตุเหล็กสำเร็จรูป ปกติผู้หญิงในวัย 15-50 ปีควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 15 มิลลิกรัม ส่วนผู้หญิงวัยมากกว่า 50 ปี ควรได้รับวันละ 10 มิลลิกรัม
ส่วนผู้ที่ไม่ขาดธาตุเหล็ก ก็ไม่ควรเติมธาตุเหล็กสำเร็จรูปให้ร่างกายอีก เพราะร่างกายขจัดออกไม่ได้ และเมื่อมีมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายต่อตับ
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ทีมพัฒนาคุณภาพงานธนาคารเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โทร.0-5394-5624
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Kapook.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น