วันพฤหัสบดี, เมษายน 11, 2556

สภากาชาด


สภากาชาดสากล


          ผู้ให้กำเนิดสภากาชาดสากล  คือนายอังรี ดูนังต์(Henry Dunant) ชาวสวิตเซอร์แลนด์  เขาเกิดเมื่อวันที่  ๘พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๓๗๑ ณ กรุงเจนีวา ในครอบครัวขุนนางตระกูลสูง ดูนังต์เป็นนักท่องเที่ยวเขาเดินทางไปแสวงหาโชคลาภในทวีปแอฟริกาเหนือ ๒ ครั้ง ในการเดินทางครั้งที่ ๒ เขาผ่านไปทางภาคเหนือของอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) ณ ที่นี้เองที่เขาได้เห็นการสู้รบระหว่างทหารฝรั่งเศส ซึ่งเขามาช่วยอิตาลีรบกับออสเตรีย เขาเห็นทหาร ๔๐,๐๐๐ จากจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ คน  บาดเจ็บล้มตายโดยไม่มีผู้ใดช่วยเหลือ  ด้วยแรงบันดาลใจครั้งนี้ เขาจึงคิดที่จะสร้างองค์การอาสาสมัครเพื่อดูแลทหารบาดเจ็บในยามสงครามขึ้น
          จากความคิดของอังรี ดูนังต์ เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๖ ก็ได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ" (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้รับการปรับปรุงให้เป็นสภากาชาดสากล (International  Commitee  of the Red Cross) และได้เจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
          สัญลักษณ์ของกาชาดคือเครื่องหมายกากบาทแดงอันเป็นการให้เกียรติแก่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดกาชาด แต่เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าเครื่องหมายกากบาทมีความสำคัญทางคริสต์ศาสนาในอนุสัญญาเจนีวาจึงอนุมัติให้ประชากรมุสลิมใช้เครื่องหมายซีกวงเดือนแดงแทนกากบาทแดงทั่วโลกถือกันว่าวันที่  ๘  พฤษภาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็นวันที่ระลึกกาชาดสากล  และจวบถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ สภากาชาดสากลมีสภาชิกรวมทั้งสิ้น ๑๒๖ ประเทศ สภากาชาดแต่ละประเทศตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ร่วมในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้และบาดเจ็บ ทั้งในยามสงครามและยามสงบ  ตลอดจนการบรรเทาสาธารณภัยโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ชั้น วรรณะ ลัทธิ ศาสนา หรืออุดมคติในทางการเมืองของผู้ประสบภัยพิบัติ นอกจากนี้ยังมีองค์กรซึ่งทำหน้าที่ประสานงานของสภากาชาดไปประเทศต่างๆเรียกว่า  "สันนิบาตสภากาชาด"  ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยนายเฮนรี พี. เดวิดสัน(Henry  P.Davidson) เป็นผู้ริเริ่ม และในขณะนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์



สภากาชาดไทย


ลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี

          ความคิดที่จะให้มีสภากาชาดไทย เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) ซึ่งเป็นปีที่เกิดกรณีพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส อันเป็นผลให้เกิดมีการสู้รบกันขึ้น  ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์หัวหน้าหญิงไทยสกุลสูงในสมัยนั้นมีความห่วงใยในทหารบาดเจ็บ จึงนำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา บรมราชเทวี ขอให้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดตั้งองค์การบรรเทาทุกข์ทหาร ในทำนองเดียวกับสภากาชาดในต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งองค์กรดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดง" โดยมีเจ้านายฝ่ายในชั้นสูง และหญิงผู้มีเกียรติอาสาสมัครเข้าปฏิบัติงานในองค์กรที่จัดตั้งขึ้น มีกิจกรรมสำคัญ คือ การส่งเวชภัณฑ์อาหาร เสื้อผ้า และของใช้ไปบำรุงทหารในสนามรบ
          กิจกรรมของสภาอุณาโลมแดงได้ซบเซาลงภายหลังกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้สิ้นสุดลง และได้กลับมาฟื้นฟูขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานที่ดินและทุนทรัพย์ก่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ขึ้นอยู่กับสภากาชาดสยามที่วิวัฒนาการมาเป็นสภากาชาดไทยในปัจจุบัน คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศได้รับรองสภากาชาดไทย เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๓ และสันนิบาตสภากาชาดได้รับสภากาชาดไทยเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔
          สภากาชาดไทยมีตัวแทนอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร ในนามของ "เหล่ากาชาดจังหวัด" ซึ่งมีหน้าที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยและราษฎรที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมกิจการอนุกาชาด อาสากาชาด บริการโลหิต และบริการดวงตาอีกด้วย
          ในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทยและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดำรงตำแหน่งอุปนายิกาสภากาชาดไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น