วันพฤหัสบดี, มกราคม 23, 2557

พระสุพรรณกัลยา ขัตติยนารีผู้อาภัพ


พระสุพรรณกัลยา สุวรรณกัลยา หรือ สุวรรณเทวี ทรงเป็นพระราชธิดาใน สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และ พระวิสุทธิกษัตรีย์ และเป็นพระพี่นางใน สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และ สมเด็จพระเอกาทศรถ 

ประสูติ ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก เชื่อว่าพระนามเดิม คือ "องค์ทอง" ได้รับการกล่าวขานว่าทรงมีความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ยอมเสียสละความสุขส่วนพระองค์ และนับว่าทรงเป็นวีรสตรีไทยที่ควรแก่การยกย่องเชิดชู


ชีวิตในกรุงหงสาวดี

ในคราวสงครามครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระสุพรรณกัลยาทรงยอมเป็นองค์ประกันของหงสาวดีแทนพระนเรศวรผู้เป็นพระอนุชา 

โดยได้ถวายตัวเป็นพระมเหสีรองในพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรจึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา โดยพระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสี มีพระตำหนักและฉัตรส่วนพระองค์ ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด เครื่องใช้สิ่งของ ข้าราชบริวารที่เป็นชาวไทยทั้งหมด 

เมื่อจะเสด็จไปยังที่ใด จะโดยเสลี่ยงหรือพระที่นั่งหรือพระพาหนะใดก็ตาม จะมีเจ้าพนักงานกางฉัตรถวาย และพระองค์ทรงอยู่อย่างเกษมสำราญ

พระนางทรงมีพระธิดา 1 พระองค์กับพระเจ้าบุเรงนอง ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้าภุ้นชิ่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่โดยมากจะรู้จักกันในพระนาม เมงอทเว 

ในพระราชพงศาวดารพม่าได้บันทึกว่า พระสุพรรณกัลยาเป็นพระมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปรานมาก โดยทรงจัดให้สร้างตำหนักทรงไทยขึ้นในพระราชวังกรุงหงสาวดี

ด้วยเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองเสด็จออกราชการสงครามอยู่เสมอ ทำให้พระสุพรรณกัลยา รวมทั้งพระมเหสีองค์อื่นทรงดำเนินชีวิตในพระราชวังตามปกติ โดยมิได้เส็ดจออกงานหรือเห็นโลกภายนอก จนกว่าที่พระเจ้าบุเรงนองจะเสด็จกลับหงสาวดีจึงจะมีการจัดงานสำคัญ 

โดยในวันเพ็ญ เดือนมีนาคม พ.ศ. 2116 มีงานบูชาพระมหาเจดีย์ชเวดากอง พระสุพรรณกัลยาพร้อมด้วยพระราชธิดาองค์น้อย ได้ประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนอง ไปบำเพ็ญพระราชกุศลนาน 5 วัน นับเป็นครั้งแรก ที่พระองค์ได้เสด็จออกนอกพระราชฐาน เป็นเวลานานว่า 3 ปี

หลังจากงานบูชามหาเจดีย์จบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ 3,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ 

ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกมะโย่ส้า เนื่องจากทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก

การสิ้นพระชนม์

ภายหลังจากที่พระเจ้าบุเรงนองสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2124 พระเจ้านันทบุเรงขึ้นครองราชย์แทน พระนางจึงกลายเป็นพระมเหสีในพระเจ้านันทบุเรงตามประเพณี ภายหลังจากที่พระมหาอุปราชามังกะยอชวาสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2135 จากการทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 

ซึ่งการสิ้นพระชนม์นั้น ในพงศาวดารรวมถึงคำให้การต่างๆ ทั้งของไทยและพม่า ต่างก็ให้ข้อมูลต่างกันออกไป เกี่ยวกับการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยา

ในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พระเจ้ากรุงหงสาวดีพิโรธมาก รับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองที่แพ้กลับมาในครั้งนั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้น แต่ก็ยังไม่หายพิโรธ 

ได้เสด็จไปสู่พระตำหนักพระสุพรรณกัลยา เอาพระแสงดาบฟันพระนางและพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ และได้ประมาณการว่าพระสุพรรณกัลยา มีพระชนมายุได้ 39 พรรษา

ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้กล่าวใกล้เคียงกัน แต่ต่างที่เป็นพระราชโอรสมิใช่พระราชธิดา ความว่า 

"ฝ่ายพระเจ้าหงสา ทรงพระพิโรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐานเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศวรนั้นบรรทมให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ในพระที่ พระเจ้าหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่พิราลัยด้วยกันทั้งสองพระองค์ ด้วยพระเจ้าหงสาวดีทรงโกรธยิ่งนัก มิทันจะผันผ่อนได้"

ส่วนในพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว (Mhannan-หมานแปลว่า แก้ว, นาน แปลว่า หอ หรือวัง) ที่แต่งขึ้นโดยพระบรมราชโองการของกษัตริย์พม่าเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2372 (ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์) ได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาว่า 

พระองค์มีคนสนิทคนหนึ่ง มีนามว่า พระองค์จันทร์ ภายหลังพระอุปราชาสิ้นพระชนม์ ในการกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้านันทบุเรงมิได้ประหารพระสุพรรณกัลยาทันที ที่ทราบข่าว หากแต่ได้เสวยน้ำจัณฑ์จนเมามายอยู่เป็นเวลานาน แต่ละวันก็พาลหาเรื่องพระสุพรรณกัลยาและขู่อาฆาตบ่อยๆ จนพระนางสังหรณ์พระทัย 

ได้ทรงเรียกพระองค์จันทร์มาปรับทุกข์หลายครั้ง ท้ายที่สุดพระองค์ได้ตัดปอยพระเกศาใส่ผอบเครื่องหอมประทานแก่พระองค์จันทร์ เตรียมนำไปถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กรุงศรีอยุธยา เผื่อพระองค์จะไม่มีพระชนม์ชีพต่อไป

ต่อมาวันหนึ่งพระเจ้านันทบุเรงทรงเมามายไม่ได้พระสติ ได้เสด็จไปถึงห้องพระบรรทมของพระสุพรรณกัลยา แล้วใช้พระแสงดาบฟันแทงพระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์อยู่บนพระที่นั่นเอง 

แต่อย่างไรก็ตามพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้ว ได้ระบุว่าพระนางมีพระราชโอรสกับพระเจ้าบุเรงนองหนึ่งพระองค์ และในครรภ์อีก 1 พระองค์ เมื่อพระเจ้านันทบุเรงทรงคืนพระสติแล้ว ก็ได้มีพระราชโองการจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพแก่พระสุพรรณกัลยา อย่างสมพระเกียรติ 

ส่วนพระองค์จันทร์นั้นได้ลักลอบออกจากวัง โดยนำผอบพระเกศาไปกับนายทหารมอญโดยทำทีเป็นสามีภรรยากันตลอด เป็นเวลาสามเดือนเศษจนถึงกรุงศรีอยุธยา และได้นำความกราบบังคมทูลแก่พระญาติวงศ์ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจ ในครั้งนั้น พระองค์จันทร์ได้รับการสถาปนาเป็น ท้าวจันทร์เทวี

หลังจากได้พระราชทานเพลิงพระศพพระวิสุทธิกษัตรีย์ (ซึ่งทางไทยได้กล่าวว่าสิ้นพระชนม์เนื่องจากทรงตรอมพระทัยในการสูญเสียพระสุพรรณกัลยา) สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ยกทัพไปตีหงสาวดีและตองอูแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างที่พระองค์ได้รับพระอัฐิพระสุพรรณกัลยา จากมอญผู้หนึ่งในช่วงที่พระองค์ประทับ ณ เมืองปาย 

ทรงพระสุบินถึงพระสุพรรณกัลยาได้เสด็จมาพบและตรัสว่า พระนางเปรียบเสมือนคนสองแผ่นดิน มีความผูกพันทั้งไทยและพม่า จึงมีพระประสงค์ที่จะพำนักเมืองปายนั่นเอง จากการพระสุบินดังกล่าวสมเด็จพระนเรศวรจึงหยุดทัพไว้ที่เมืองปาย เป็นเวลา 32 วัน 

และโปรดฯ ให้ม้าเร็วเข้ามารับตัวท้าวจันทร์เทวีขึ้นไป และนำผอบบรรจุพระเกศาขึ้นไปด้วย จากนั้นก็โปรดให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง และพระเจดีย์เพื่อจะประดิษฐานพระเกศาและพระอัฐิไว้ ณ เมืองปาย ปัจจุบันเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั่นเอง


หลักฐานที่ขัดแย้งกัน

แม้การสิ้นพระชนม์ของพระสุพรรณกัลยานั้น จะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเกิดจากแรงโทสะของพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งตรงกันทั้งในหลักฐานของไทยและพม่า (บางฉบับ) แต่มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า ได้นำเสนอข้อมูลที่แตกต่างออกไป 

โดยกล่าวถึงเจ้าภุ้นชิ่หรือเจ้าหญิงพิษณุโลก ได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง 

และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่า ในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี 

พระเจ้านยองยันจังได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้น เป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด 

จึงคาดได้ว่า ภายใต้การปกครองของพระเจ้านยองยัน พระสุพรรณกัลยารวมถึงเจ้าหญิงพิษณุโลก ก็ยังทรงประทับในนครอังวะอย่างปกติสุขจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ โดยมิได้ถูกปลงพระชนม์แต่อย่างใด


การพบหลุมพระศพพระสุพรรณกัลยา

เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 มีการขุดพบหลุมแห่งหนึ่งซึ่งมีทั้งพระโกฎทองคำและเครื่องใช้ในราชสำนักจำนวนมาก รวมทั้งโครงกระดูกบางส่วนรวมอยู่ด้วย ในระหว่างที่กำลังมีการปรับพื้นดินเพื่อสร้างเมืองใหม่ของพม่าใกล้กับเมืองปีนมานา ในภาคกลางของพม่า 

โดยมีการพูดคุยในหมู่นายทหารระดับสูงของพม่าว่า หลุมดังกล่าวคาดว่าเป็นหลุมพระศพของพระสุพรรณกัลยา เนื่องจากเครื่องใช้ราชสำนักบางส่วนมีลักษณะคล้ายลวดลายไทย

แหล่งข่าวดังกล่าวเปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ทางกองทัพพม่าได้สั่งระงับการสร้างเมืองดังกล่าวไว้ชั่วคราว และพยายามปิดข่าวนี้อย่างมิดชิด เนื่องจากเกรงว่าจะมีการขอเข้าไปตรวจสอบและทวงทรัพย์สมบัติล้ำค่าจากทางการไทย


พระนามต่างๆ

สุวรรณกัลยา จากคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง 
จันทรกัลยา จากคำให้การชาวกรุงเก่า 
พระสุวรรณ จากพงศาวดารฉบับอูกาลา 
อะเมี้ยวโยง แปลว่าผู้จงรักภักดีในเผ่าพันธุ์ตน จากพงศาวดารของมหาสีหตู 
พระสุวรรณเทวี จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา 
พระสุพรรณกัลยาณี จากพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระราชนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

สถานที่เกี่ยวกับพระองค์

พระอนุสาวรีย์พระสุพรรณกัลยาณี ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (กองทัพภาคที่ 3) อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 

พระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระรูปพระสุพรรณกัลยา ณ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 

พระบรมรูปพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ณ วัดลาดสิงห์ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี 

พระรูป ณ พระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 

เจดีย์ ณ วัดบ้านน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เชื่อกันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างถวายพระสุพรรณกัลยา และภายในพระเจดีย์ ได้บรรจุเส้นพระเกษาของพระสุพรรณกัลยาไว้ด้วย


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

และขอขอบคุณ สิริสวัสดิ์จันทรวาร สิริมานปรีดิ์เขษมค่ะ

วันอาทิตย์, มกราคม 05, 2557

พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า

เก็บตกจากข้อสอบ ก่อนเข้าห้องสอบไม่รู้จัก ออกจากห้องสอบมาศึกษา ทีหลังก็ได้

พระบฏ: พุทธศิลป์บนผืนผ้า

จารุณี อินเฉิดฉาย*
*พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป 



        พระบฏ คือผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า "บฏ" มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า
        การประดับอาคารศาสนสถานด้วยผ้าเขียนภาพต่างๆ นั้น เป็นคตินิยมเนื่องในพุทธศาสนามหายานจากประเทศอินเดีย และได้ส่งอิทธิพลไปยังดินแดนต่างๆ เช่นจีนและญี่ปุ่น ดังพบหลักฐานการเขียนภาพบนผืนผ้าและนำไปประดับตามศาสนสถานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ (สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง) ส่วนใหญ่เป็นภาพพระพุทธเจ้าศรีศากยมุนี หรือพระโพธิสัตว์ แวดล้อมด้วยพระสาวก (มาลินี คัมภีรญาณนนท์ ๒๕๓๒)
        ในจารึกสุโขทัย หลักที่ ๑๐๖ (จารึกวัดช้างล้อม) กล่าวถึงพนมไสดำ ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สร้างถาวรวัตถุต่างๆ ไว้เป็นอันมาก และในปีพุทธศักราช ๑๘๒๗ "...จึงมาตั้งกระทำหอพระปีฎกธรรมสังวร ใจบูชาพระอภิธรรมกับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีม(หาโ)พธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ...พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้ ๑๔ ศอกกระทำให้บุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา กระทำพระหินอันหนึ่ง ให้บุญไปแก่มหาเทวี..." (สำนักนายกรัฐมนตรี ๒๕๑๓)


        ดังนั้น คติการสร้างพระบฏในสมัยสุโขทัย จึงนิยมทำขึ้นเพื่อการอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว 
        ในจารึกหลักเดียวกันนี้ยังกล่าวถึง "พระบฏจีน" ซึ่งอาจจะเป็นพระบฏที่เขียนขึ้นเนื่องในคติมหายานตามความนิยมของจีน หรือไม่เช่นนั้น ก็อาจหมายความว่าการเขียนภาพบนผ้านั้น ทำตามแบบอย่างของจีน จึงเรียกว่าพระบฏจีน 
        ในตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช วรรณกรรมที่สำคัญในสมัยอยุธยา (ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓) ก็ได้กล่าวถึงพระบฏไว้หลายตอนด้วยกัน เช่น 
        "...ครั้งนั้น ยังมีผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดีกับคน ๑๐๐ หนึ่ง พาพระบตไปถวายพระบาทในเมืองลงกา ต้องลมร้ายสำเภาแตกซัดขึ้นที่ปากพนัง พระบตขึ้นที่ปากพนัง ชาวปากน้ำพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง แลผขาวอนทพงษ์กับคน ๑๐ คนซัดขึ้นปากพูนเดินตามริมชเล มาถึงปากน้ำ พระญาน้อยชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นพระบต ผขาวก็ร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาก็ให้แต่งสำเภาให้ผขาวไปเมืองหงษาวดี..." (กรมศิลปากร ๒๕๑๗) 
        พระบฏที่นับว่าเก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ได้มาการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร ในโครงการสำรวจทางโบราณคดีเหนือเขื่อนภูมิพล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระบฎผืนนี้มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง ๑.๘ เมตร และยาวถึง ๓.๔ เมตร เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ แวดล้อมด้วยเหล่าทวยเทพ สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง ซึ่งเป็นลักษณะการชำรุดก่อนที่จะนำไปบรรจุไว้ในหม้อดิน จึงสันนิษฐานว่าพระบฏนี้มีอายุเก่ากว่าพระเจดีย์ หรือมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๒ 
        ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัตถุประสงค์การสร้างพระบฏยิ่งหลากหลายออกไป กล่าวคือมีทั้งที่ทำขึ้นเพื่อสืบทอดพระศาสนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับ และเพื่อเป็นอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัว เมื่อวัตถุประสงค์หลากหลาย จึงทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพระบฏไปด้วย ทั้งในด้านเรื่องราว วัสดุ และขนาด 

อ่านต่อได้ที่ http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=109